เกาะปีกพญามังกร "10 เรื่องน่ารู้ กับกูรูฟุตบอลจีน" อ.เอี่ยม ศรัณยู ยงพานิช

เมื่อพูดถึงฟุตบอลต่างประเทศในเอเชีย คนไทยจำนวนไม่น้อยมักนึกถึง เจลีก ของญี่ปุ่น เป็นอันดับแรก ด้วยภาพลักษณ์ของเกมที่มีคุณภาพ นักเตะไทยที่ไปค้าแข้ง และการถ่ายทอดสดที่เข้าถึงง่าย แต่ในขณะเดียวกัน อีกภูมิภาคหนึ่งของทวีปเอเชียบนผืนแผ่นดินใหญ่ ไชนีส ซูเปอร์ลีก (CSL) ก็เป็นอีกหนึ่งลีกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ในมุมของความเข้มข้นของการแข่งขัน การลงทุนมหาศาลจากสโมสรต่าง ๆ และการเข้ามาของนักเตะระดับโลก ทำให้ลีกจีนกลายเป็นเวทีที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะสำหรับแฟนบอลที่อยากจะเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการติดตามฟุตบอลนอกเหนือจากที่คุ้นเคย
วันนี้ทีมงาน Off The Bench มีโอกาสได้พูดคุยกับ อ.เอี่ยม ศรัณยู ยงพานิช กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลจีนอันดับต้นๆของเมืองไทย เราลองมาฟังกันว่า เสน่ห์ของฟุตบอลจีนมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

1. จุดเริ่มต้นของ อ.เอี่ยม ในการเข้าสู่วงการฟุตบอลจีน
“สมัยเรียนป.โท ผมได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับฟุตบอลจีน และไปสะดุดตากับแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติของจีนเข้าอย่างจัง”
ช่วงต้นปี 2010s รัฐบาลจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีความทะเยอทะยานที่จะผลักดันให้ประเทศจีนเป็นมหาอำนาจในเชิงลูกหนัง โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ข้อคือ
- เป็นเจ้าภาพในการจัดฟุตบอลโลกในอนาคต
- ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกให้ได้อย่างต่อเนื่อง
- สุดท้ายคือเป็นหนึ่งในชาติที่มีความแข็งแกร่งด้านฟุตบอลติดอันดับโลก

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ทางการจีนได้ส่งเสริมการลงทุนในกีฬาฟุตบอลอย่างมหาศาล โดยความร่วมมือทั้งจากรัฐบาลและภาคเอกชน
ช่วงเวลาพอดีกับที่ในปี 2011-2012 อ.เอี่ยม ที่ขณะนั้นกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทอยู่พอดี และต้องทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับฟุตบอลจีน ทำให้ต้องศึกษาค้นคว้าข้อมูลหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ และแผนพัฒนากีฬาฟุตบอลของประเทศจีนฉบับนี้นี่เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสนใจในฟุตบอลจีนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
2. "0.007%"
คำถามแรกๆ ที่แฟนบอลทั่วโลกมักตั้งข้อสงสัยกับวงการฟุตบอลจีน คือ ประเทศมหาอำนาจ ที่มีพร้อมทั้งจำนวนประชากร และฐานะทางการเงินอันมั่งคั่ง แบบประเทศจีน ทำไมถึงไม่สามารถผลิตนักเตะฝีเท้าดี ขึ้นมาได้มากพอที่จะทำให้ทีมชาติจีนประสบความสำเร็จ
อ.เอี่ยม เล่าให้ฟังว่า
“ประเทศจีน มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน แต่ประชากรฟุตบอลในระบบอาชีพที่ลงทะเบียนไว้ ไม่น่าเชื่อว่าอาจจะมีอยู่ราวๆเพียง 1 แสนคนเท่านั้น (ในช่วงปีที่อาจารย์ได้เก็บข้อมูลทำวิจัย) ซึ่งคิดโดยประมาณแล้วคิดเป็นเพียง 0.007% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ”
สาเหตุก็เพราะฟุตบอล ไม่ใช่กีฬาที่พ่อแม่ชาวจีน จะนิยมผลักดันลูก ๆ เมื่อเทียบกับกีฬายอดนิยมชนิดอื่นๆ ของจีน อย่าง ปิงปอง กอล์ฟ แบดมินตัน หรือไม่เว้นแม้กระทั่งบาสเก็ตบอล ซึ่งนั่นทำให้เมื่อระบบเยาวชนไม่สามารถสร้างนักฟุตบอลฝีเท้าดี ป้อนเข้าสู่ระบบฟุตบอลอาชีพได้มากพอ
การขาดแคลนทรัพยากรนักเตะของจีน จึงเป็นปัญหาที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน
3. ผลกระทบต่อทีมชาติ
“ปัญหาเรื่องจำนวนนักฟุตบอลเนี่ย กว่าจะได้มาแต่ละคนแทบจะพลิกแผ่นดินหา มันวิกฤตขนาดที่ว่ารัฐบาลจีนต้องใส่ฟุตบอลในหลักสูตรการศึกษาให้เรียนกันเลยทีเดียว (คล้าย ๆ ชั่วโมงกิจกรรม) โดยเริ่มมีการนำร่องในหลายพื้นที่แล้ว”
รัฐบาลจีน แก้ปัญหาทรัพยากรนักเตะไม่เพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่ทีมชาติในอนาคต ด้วยการบรรจุกีฬาฟุตบอล เข้าไปในภาคบังคับของการศึกษา สถานศึกษาทั่วประเทศต้องขานรับนโยบายนี้ ด้วยการจัดชั่วโมงเรียนฟุตบอลไว้เป็นกิจกรรมหนึ่งของการเรียนการสอน

ถ้าไม่ทำแบบนั้นก็จะเจอกับปัญหาเดิม ๆ คือพ่อแม่ อยากให้อนาคตของลูกทำอย่างอื่นมากกว่า เช่นเป็นแพทย์ นักธุรกิจ นักกฎหมาย บางครอบครัวก็อยากให้ลูกเป็นดาราหรือสายบันเทิงไปเลยก็มีให้เห็นกันเป็นเรื่องปกติ
ฟุตบอลในสายตาของพวกเขา จึงเป็นเพียงแค่การออกกำลังกาย หรือกิจกรรมค่ายฤดูร้อน/ฤดูหนาวอะไรพวกนี้เพียงแค่นั้น ให้เล่นกันได้เต็มที่ก็ถึงแค่อายุ 14-15 ปี หลังจากนั้นก็ไม่เล่นฟุตบอลเพื่อความเป็นเลิศหรืออาชีพกันแล้ว
ความฝันแบบที่จะเล่นเป็นอาชีพ หรือว่าต้องการไปค้าแข้งในยุโรปนั้น แทบไม่มีอยู่ในหัวของเด็กจีนยุคนี้เลย สุดท้ายก็เลยมาจบที่การพึ่งพานักเตะที่โอนสัญชาติมา
4. ใช้เงินแก้ปัญหา?
“เหมือนเอาผู้ใหญ่ มาช่วยแก้โจทย์คณิตศาสตร์ให้เด็กนักเรียน เป้าหมายคือเอามาแบก แบกแบบแบกจริง ๆ นักบอลจีนมีหน้าที่แค่คอยส่งบอลให้อย่างเดียว ที่เหลือพวกตัวต่างชาติเอาไปทำต่อเอง”
“นั่นทำให้เวลานักบอลจีนลงไปเล่นโดยไม่มีตัวช่วย ก็จะเล่นกันทื่อๆ ไม่มีมิติในการเล่น เพราะพวกเขาคิดไม่ออกจริง ๆ ไง”
นี่คือสูตรสำเร็จของทางลัด เมื่อระบบป้อนทรัพยากรให้คุณไม่พอหรือไม่ทัน ไม่เป็นไร ถ้าคุณมีเงิน ประเทศจีน โดยประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง วางฟุตบอลเป็นหนึ่งในชนิดกีฬา ที่รัฐบาลจะสนับสนุน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาประเทศ
มีการอัดฉีดเม็ดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบ ทั้งจากภาครัฐเอง และภาคเอกชน
ไชนีส ซูเปอร์ลีก กลายเป็นจุดหมายใหม่ของนักเตะดัง ๆ จากฝั่งยุโรป ที่ทยอยย้ายข้ามทวีปมาโกยเงินหยวนกันเป็นจำนวนมาก
ที่น่าสนใจคือ บรรดานักเตะที่ย้ายมา ไม่ใช่นักเตะหมดสภาพ หรืออยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิตการค้าแข้งแล้ว แบบสมัยการบูม เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ของอเมริกา แต่กลับเป็นนักเตะที่ยังอยู่ในจุดพีคของอาชีพ หลายๆ คนยังเล่นอยู่ในลีกใหญ่ๆ กับสโมสรดังๆ ลองดูรายชื่อเหล่านี้จะเห็นได้ว่าเป็นยุคทองของฟุตบอลจีนที่เงินสะพัดเป็นอย่างมาก
ถ้าจะให้เห็นภาพก็คงเหมือนกับ ลีกซาอุฯ ในปัจจุบันนี้นี่เอง

รายชื่อบางส่วนของนักเตะชื่อดังที่เคยพากันเข้ามาค้าแข้งในลีกจีน
• Didier Drogba (Shanghai Shenhua) – ตำนานกองหน้าของเชลซี
• Nicolas Anelka (Shanghai Shenhua) – อดีตแข้งเชลซี อาร์เซนอลและเรอัล มาดริด
• Carlos Tevez (Shanghai Shenhua) – อดีตดาวยิงแมนฯ ยูไนเต็ด และแมนฯ ซิตี้
• Hulk (Shanghai SIPG) – ตัวรุกเท้าหนัก ทีมชาติบราซิลที่เคยเล่นให้ FC Porto
• Oscar (Shanghai SIPG) – อดีตมิดฟิลด์เชลซี และทีมชาติบราซิล
• Paulinho (Guangzhou Evergrande) – อดีตกองกลางบาร์เซโลนา และท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ส
• Javier Mascherano (Hebei China Fortune) – อดีตแข้งลิเวอร์พูล และบาร์เซโลนา
5. สร้างฮอกวอตส์สาขาแผ่นดินใหญ่
“ครั้งหนึ่งเด็กจีนทั่วประเทศใฝ่ฝันจะเข้ามาเรียนที่นี่ เพราะที่นี่มีพร้อมทุกๆ อย่าง ถ้าคุณต้องการจะเอาดีทางด้านฟุตบอล”
กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ในยุคเฟื่องฟู มีความฝันอยากจะพัฒนาฟุตบอลจีนให้ไปได้ไกลในระดับโลก พวกเขาทุ่มเงินมหาศาลกว่า 185 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6,300 ล้านบาท) เพื่อสร้างโรงเรียนฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อว่า Evergrande Football School

ที่แห่งนี้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2012 ที่เมืองชิงหยวน (Qingyuan) มณฑลกวางตุ้ง บนพื้นที่ทั้งหมดที่สามารถตีเป็นสนามฟุตบอลถึง 167 สนาม มีนักเรียนกว่า 2,500 คน/ปี ภายใต้แนวทางการฝึกซ้อมแบบเดียวกับ เรอัล มาดริด
มีเป้าหมายเพื่อ ลดการพึ่งพานักเตะต่างชาติ และตั้งเป้าว่าจะสร้างนักเตะจีนที่มีฝีเท้าดี เพื่อหวังให้พวกเขาเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญของทีมชาติในอนาคตต่อไป
แม้ว่า Evergrande Football School จะเป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่ แต่เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น ก็เจอภาวะวิกฤติเมื่อ Evergrande Group ประสบปัญหาทางด้านการเงิน จนมีหนี้สินมหาศาล และต้องลดงบประมาณในหลายโครงการ รวมถึงโรงเรียนฟุตบอลก็โดนหางเลขไปด้วย
แม้ในปัจจุบัน โรงเรียนจะยังเปิดการเรียนการสอนอยู่ แต่ก็ลดระดับลงไป ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนแต่ก่อนแล้ว ยังดีที่พอจะเห็นผลอยู่บ้างตรงที่เด็กๆ ที่ได้บ่มเพาะเอาไว้แต่ก่อนนั้น ในตอนนี้เริ่มผลิดอกออกผลเอามาใช้งานได้บ้างแล้ว
การลงทุนครั้งนี้จึงดูเหมือนว่าจะไม่สูญเปล่าไปซะทีเดียว
6. ฟองสบู่แตก?
“ทุ่มทุนดึงสตาร์มาขนาดนี้ แต่คนจีนก็ยังดูพรีเมียร์ลีก หรือ ลา ลีกา มากกว่า ผลงานทีมชาติก็ลุ่มๆดอนๆ ไปไม่ถึงไหน”
มีเข้าก็ต้องมีออก มีขี้นก็มีลง ยุคทองของฟุตบอลลีกจีน เฟื่องฟูอยู่ได้ไม่นาน ยังไม่ทันจะผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรมสักเท่าไร..
เมื่อรากฐานของโครงสร้างทั้งระบบ พัฒนาไปไม่ทันกับเม็ดเงินที่หว่านลงไป ทุกอย่างก็พังทลายลงมา แต่ละสโมสรใช้เงินกันมือเติบ เน้นซื้อนักเตะต่างชาติมากกว่าพัฒนานักเตะในประเทศ ไม่มีรากฐานเยาวชนที่แข็งแรง ขาดโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน
รัฐบาลจีนเริ่มเก็บภาษี “Luxury Tax” (เก็บภาษี 100% จากค่าตัวนักเตะต่างชาติที่สูงเกิน 45 ล้านหยวน) นอกจากนี้ยังมีการจำกัดโควต้านักเตะต่างชาติเข้าไปอีก
เมื่อสึนามิลูกสุดท้ายมาถึง Covid 2019 ได้โหมกระหน่ำจนทุกอย่างจบลงอย่างสมบูรณ์
สโมสรในจีนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้จากตั๋วเข้าชม, ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด หรือการขายสินค้าแบบสโมสรในยุโรป พวกเขาพึ่งพาเงินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่เป็นนายทุนให้กับสโมสร เช่น Evergrande Group (เจ้าของกว่างโจว เอเวอร์แกรนด์)
ทำให้เมื่อบริษัทแม่ประสบปัญหาทางการเงิน ก็ทำให้หลายสโมสรต้องปิดตัวลง ถอนตัวออกจากลีก หรือถึงขั้นต้องยุบทีมไปเลยก็มี เช่น เจียงซู ซูหนิง ที่เพิ่งคว้าแชมป์ลีกในปี 2020 แต่ก็ต้องยุบทีมไปเพราะขาดทุนมหาศาล
7. เพดานค่าจ้าง
“หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ทำให้ฟองสบู่ฟุตบอลจีนแตกก็คือ การกำหนดเพดานค่าจ้าง เพื่อควบคุมการใช้จ่ายที่ไร้ขอบเขตของสโมสรในไชนีส ซูเปอร์ลีก (CSL)”
ก่อนที่จะมีการกำหนดเพดานค่าจ้าง สโมสรในจีนใช้เงินดึงดูดเหล่าซูเปอร์สตาร์ด้วยค่าจ้างมหาศาล เช่น
- คาร์ลอส เตเบซ เคยรับค่าเหนื่อยสูงถึงประมาณ 38 ล้านยูโร/ปี จาก Shanghai Shenhua ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนักเตะที่มีค่าเหนื่อยสูงสุดในโลก ณ เวลานั้น
- ออสการ์ รับค่าจ้างกว่า 20 ล้านยูโร/ปี จาก Shanghai SIPG
- ฮัล์ค, เปาลินโญ่, เอเซเกล ลาเวซซี่ ต่างรับค่าเหนื่อยสูงเกิน 10 ล้านยูโร/ปี

สมาคมฟุตบอลจีน (CFA) จึงเริ่มออกกฎ เพดานค่าจ้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของแต่ละสโมสรและคาดหวังให้ลีกเติบโตอย่างยั่งยืน
ปี 2018:
- จำกัดเงินเดือนนักเตะจีน ที่ไม่เกิน 10 ล้านหยวน/ปี (~1.3 ล้านยูโร)
- หากเป็นนักเตะจีนที่เล่นให้ทีมชาติ ค่าเหนื่อยสูงสุดที่ไม่เกิน 12 ล้านหยวน/ปี
- นักเตะต่างชาติยังไม่มีเพดานค่าจ้างที่แน่นอน แต่มีการเริ่มเก็บภาษี (Luxury Tax)
ปี 2020:
- เพดานค่าจ้างสำหรับนักเตะต่างชาติ ถูกกำหนดไว้ที่ 3 ล้านยูโร/ปี (หลังหักภาษี)
- สโมสรห้ามมีงบประมาณจ่ายค่าจ้างนักเตะรวมกันเกิน 600 ล้านหยวน/ปี (รวมทั้งนักเตะจีนและต่างชาติ) โดยในจำนวนนั้น เพดานค่าเหนื่อยนักเตะต่างชาติรวมกันอยู่ที่ 75 ล้านหยวน
- ห้ามใช้ "ค่าเซ็นสัญญา" เพื่อหลบเลี่ยงเพดานค่าจ้าง
นั่นทำให้ผลกระทบที่ตามมาคือ บรรดานักเตะซูเปอร์สตาร์ ทยอยกันย้ายหนีออกจากทีม
เมื่อรายได้ลดลงแบบมหาศาล สโมสรขาดแรงดึงดูดไม่สามารถจ่ายเงินล่อใจนักเตะระดับโลกได้อีกต่อไป ทำให้ต้องกลับไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง
8. เสน่ห์ของฟุตบอลจีน ในมุมมองของ อ.เอี่ยม

“ในแมตช์ใหญ่ๆ ก็ยังมีแฟนเข้าชมระดับ 4-5 หมื่นคน ซึ่งตัวเลขระดับถือว่าหาได้ไม่ง่ายเลยในฟุตบอลเอเชีย (ถ้าไม่นับญี่ปุ่น) ยิ่งเกมทีมชาติ คือเต็มสนามทุกนัด”
แม้ในปัจจุบันความน่าสนใจของฟุตบอลจีน จะลดระดับลงไปมาก จากการขาดหายไปของเหล่าซุปเปอร์สตาร์ต่างชาติ แต่ อ.เอี่ยม คิดว่าองค์ประกอบของฟุตบอลจีน ยังมีความน่าสนใจอยู่ ทั้งตัวสนามที่ใช้ในการแข่งขัน หรือการบริหารจัดการในวันที่มีแมตช์แข่งขันได้อย่างดีเยี่ยม
แฟนบอลระดับ 2-3 หมื่นคน เขาสามารถเคลียร์คนออกจากสนามได้ในเวลาไม่ถึง 10-15 นาที มีรถไฟฟ้ารองรับการเดินทางทั่วเมือง ทุกอย่างสะดวกสบายหมด ยิ่งในตอนนี้การเดินทางของคนไทยไปจีน ก็ฟรีวีซ่าแล้วด้วย

บางทีการลองไปชม และสัมผัสบรรยากาศของ ไชนิส ซุปเปอร์ลีก ดูสักครั้ง ก็น่าสนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยอาจจะเริ่มจากเมืองที่คนไทยนิยมไปกันอยู่แล้วเช่น เซี่ยงไฮ้ กวางโจว หรือว่าปักกิ่ง ก็ได้
9. เซี่ยงไฮ้ดาร์บี้แมตช์
“เราต้องเข้าใจก่อนว่าธรรมชาติของคนเซี่ยงไฮ้ ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องฟุตบอล คนที่นี่ก็มีนิสัยไม่ยอมใครอยู่แล้ว คนเซี่ยงไฮ้ค่อนข้างอีโก้สูงกว่าชาวบ้านเพราะเขารวย เป็นเมืองเศรษฐกิจ”
“คนจีนที่พูดสำเนียงเซี่ยงไฮ้ได้นี่ เดินไปที่ไหนยืดได้เลย ด้วยพื้นฐานแบบนี้ยิ่งเรื่องฟุตบอลเขาถึงยอมกันไม่ได้”

ถ้าอยากจะลองไปชม ไชนีส ซุปเปอร์ลีกดูสักนัด เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวกันอยู่แล้ว อย่าลืมบรรจุ เซี่ยงไฮ้ดาร์บี้แมตช์ การพบการของสองสโมสรคู่ปรับ อย่าง เซี่ยงไฮ้ พอร์ต (Shanghai Port) และ เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว (Shanghai Shenhua) เข้าไปในโปรแกรมของคุณด้วย
นี่คือหนึ่งในศึกแห่งศักด์ศรีที่มีความภูมิใจของชาวเมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเดิมพัน เกมที่แฟนบอลชาวจีนตั้งตารอมากที่สุด บรรยากาศในสนามที่ดุเดือด ทั้งเสียงเชียร์และความกดดัน
- เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว (Shanghai Shenhua - 上海申花)
ทีมเก่าแก่ของเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน เป็นหนึ่งในทีมที่ประสบความสำเร็จและมีฐานแฟนบอลที่เหนียวแน่น ก่อตั้งในปี 1993 (มีรากฐานมาตั้งแต่ยุค 1950s) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมของจีน
ทีมเซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัวเคยมีนักเตะดังระดับโลกมาค้าแข้ง อาทิเช่น นิโกลา อเนลก้า, ดิดิเยร์ ดร็อกบา และ คาร์ลอส เตเบซ
- เซี่ยงไฮ้ พอร์ต (Shanghai Port - 上海海港) (เดิมชื่อ Shanghai SIPG)
เซี่ยงไฮ้ พอร์ต ก่อตั้งในปี 2005 เดิมมีชื่อว่า Shanghai SIPG ก่อนเปลี่ยนเป็น Shanghai Port ในปี 2021 เดิมเป็นทีมขนาดเล็กและเป็นมวยรองมาตลอด แต่การก้าวเข้ามาสนับสนุนทีมของ SIPG ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป
เซี่ยงไฮ้ พอร์ต กลายเป็นทีม "เศรษฐีใหม่" มีการทุ่มทุนซื้อนักเตะระดับโลกมากมายเข้าสู่ทีมอาทิ เช่น ออสการ์ (Oscar) และ ฮัลค์ (Hulk) เป็นต้น
10. ทำไมไม่ค่อยมีนักเตะไทยไปล่าเงินหยวน?
“ถ้าเขาจ่ายค่าจ้างระดับ ออสการ์ ได้ แสดงว่าเรื่องเงินน่าจะไม่ใช่ปัญหา แต่เพราะโควตาต่างชาติใช้ได้จำกัด โอกาสของนักเตะไทยจึงแทบจะเป็นศูนย์”
ในยุคที่เงินสะพัดใน ไชนีส ซุปเปอร์ลีก โควตานักเตะต่างชาติของแต่ละทีมมีจำกัด ดังนั้นด้วยเม็ดเงินมหาศาล สโมสรต่างๆ เลือกที่จะใช้เงินกว้านซื้อนักเตะชั้นดีจากยุโรปและอเมริกาใต้เข้าร่วมทีมมากกว่าที่จะเป็นนักเตะเอเชียด้วยกัน โอกาสของนักเตะไทยในตอนนั้นจึงเป็นไปไม่ได้
แม้ว่าในตอนนี้จะเข้าสู่ยุคซบเซาของฟุตบอลจีนแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ค่อยมีนักเตะไทยคนไหนอยากจะลองไปหาความท้าทายล่าเงินหยวนอยู่ดี อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญก็อาจจะมาจาก การจำกัดเพดานเงินเดือนที่จ่ายได้น้อยลงของทุกสโมสร ที่ถึงแม้ว่าจะลดลงแล้วแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร
แต่กับผู้เล่นระดับทีมชาติไทย รายได้ระดับนี้ยังถือว่าไม่น่าสนใจมากพอกับความเสี่ยงที่จะย้ายไป

แม้ว่าปัจจุบันมีเฉพาะนักฟุตบอลหญิงอย่างปณิฎฐา จิรัตนะภวิบูล และจิราภรณ์ มงคลดี (สโมสรกว่างซี ผิงกั่ว เปยหนง) ที่ไปค้าแข้งในจีน แต่บรรดาแข้งทีมชาติช้างศึกผู้ชายส่วนใหญ่จึงมักมองไปที่เจลีก ของญี่ปุ่น เป็นจุดหมายปลายทางมากกว่า ถ้าจะต้องออกไปหาความท้าทายในต่างแดนจริงๆ
เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของฟุตบอลจีนเท่านั้น ความน่าสนใจของไชนีสซูเปอร์ลีกยังมีอีกมากมายให้ค้นหา นี่จึงเป็นอีกหนึ่งลีกทางเลือกที่มีสีสันและเอกลักษณ์เฉพาะตัว
Off The Bench อยากลองชวนแฟนบอลทำความรู้จักกับลีกฟุตบอลจีนให้มากขึ้น ที่อาจจะได้สัมผัสความสนุกในอีกมุมหนึ่งของฟุตบอลเอเชียที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน เปิดใจลองติดตามดูสักนิด อาจจะพบความสนุกในแบบที่แตกต่างออกไป
กำแพงเมืองจีนไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่มันยิ่งใหญ่เพราะไม่เคยหยุดสร้างและนั่นแหละ...คือสิ่งที่ฟุตบอลจีนกำลังทำอยู่ — เดินหน้าต่อ แม้จะล้มมาแล้วหลายครั้ง
ฟุตบอลลีกจีนอาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งในลีกโปรดของคุณในอนาคตก็ได้..
ติดตามเรื่องราวบอลจีนกับอ.เอี่ยมได้ที่
https://www.facebook.com/ChineseSuperLeagueThailand
เส้นทางที่ยังไม่สิ้นสุด

*** ปัจจุบันจากข้อมูลที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับฟุตบอลจีนนั้น อ.เอี่ยม ได้นำมาต่อยอดเป็นธุรกิจหลายอย่าง เช่น การลงทุนในธุรกิจศูนย์ฝึกซ้อมฟุตบอลครบวงจร “Westin Foshan Soccer Base” ที่เมืองฝอซาน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหานครกวางโจว
ข้อดีของการพาทีมชาติหรือสโมสรไปเก็บตัวที่นี่ คือการได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ บรรยากาศใหม่ อาหารการกิน ได้เจอคู่ต่อสู้ที่ไม่เคยเจอ บางทีมเป็นทีมระดับสูงที่ลงแข่งขันในฟุตบอลสโมสรเอเชีย ***

ซึ่งในจุดนี้ อ.เอี่ยม มองว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ ยิ่งโดยเฉพาะกับฟุตบอลระดับเยาวชน ถ้าได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ประสบการณ์ในการมาเก็บตัวฝึกซ้อมในต่างประเทศ จะเป็นที่ไหนก็ได้ ขอแค่ให้มีมาตรฐานที่ดีพอ
สิ่งที่เด็กๆ ได้รับกลับไปจะเป็นประโยชน์มหาศาลกับตัวเขาเองในอนาคต เพราะทีมชั้นนำต่างๆ ของเอเชีย ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็มีการไปเก็บตัวแบบนี้อยู่ตลอด
นับว่าเป็นการทำงานเชิงรุก ซึ่งพวกเขามองว่า ดีกว่าอยู่แต่ในประเทศแล้วรอว่าจะมีทีมอื่นเดินทางมาหาเพียงอย่างเดียว

หนึ่งตัวอย่างที่ผ่านมาไม่นาน ทีมฟุตบอลเยาวชน เชียงใหม่ เอฟซี ยกทีมเดินทางมาเก็บตัวที่ศูนย์ฝึกเมืองฝอซาน ถึง 2 ครั้ง ครั้งละ 10 กว่าวัน ได้ฝึกซ้อมและมีโอกาสได้ลงทีมอุ่นเครื่องกับสโมสรทั้งจีน (ปักกิ่ง กั๋วอัน) และทีมจากเกาหลีใต้ (ซูวอน บลูวิงส์, กังวอน เอฟซี)
ซึ่งทุกทีมต่างได้ประโยชน์จากการมาเก็บตัวต่างแดนร่วมกัน ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ภายในทีมดีขึ้น มีสมาธิในการฝึกซ้อม เพราะไม่มีอะไรรบกวน ได้ประสบการณ์แปลกใหม่และช่วยเสริมสร้างความมั่นใจก่อนลงแข่งขันจริง

หลังจากทีมชุดนี้กลับไป ก็สามารถต่อยอดสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการกีฬาฟุตบอลเชียงใหม่ ด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลชาย กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 40 “ฉลามเยาวชลเกมส์” ที่จังหวัดชลบุรี เป็นแชมป์ระดับชาติครั้งแรกในรอบกว่า 11 ปีเลยทีเดียวของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นการได้เหรียญทองครั้งแรกในกีฬาเยาวชนแห่งชาติอีกด้วย
ศูนย์ฝึกแห่งนี้อาจสะท้อนทิศทางใหม่ของวงการฟุตบอลจีน — จากเดิมที่เน้นภาพลักษณ์และการลงทุนแบบทางลัด สู่การลงมือวางรากฐานอย่างจริงจัง และคราวนี้ เป้าหมายไม่ใช่แค่สร้างความประทับใจ แต่อาจหมายถึงการสร้างบางสิ่งที่มั่นคงพอจะยืนระยะได้จริง..
