บันทึกความทรงจำ EP1: กัปตันทีมชาติไทยเบอร์ 12 “นิรุจน์ สุระเสียง” (ตอนที่ 1)

บันทึกความทรงจำ EP1: กัปตันทีมชาติไทยเบอร์ 12 “นิรุจน์ สุระเสียง” (ตอนที่ 1)

จากนักเตะเยาวชนในไทยสู่การได้ปะทะแข้งระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น ซีดาน, เบคแฮม,โรเบอร์โต คาร์ลอส, ริวัลโด้, โรนัลดินโญ่ และ หลุยส์ ฟิโก้ ฯลฯ

ว่ากันว่าเขาได้สัญชาติเวียดนามและมีชื่อภาษาเวียดนามว่า ด่อน วัน นิรุจน์ (Đoàn Văn Nirut) เป็นเรื่องจริงหรือไม่และมีที่มาอย่างไร

แฟนบอลที่เกิดทันเห็นเขาเล่น บอกว่าสไตล์ของเขาในบางมุมคล้ายๆกับ นิโคลาส มิคเคลสัน และที่สำคัญตอนนี้ ยังใส่หมายเลข 12 เหมือนกันอีกด้วย

มาไขคำตอบเหล่านี้ไปด้วยกัน..

ทีมงาน Off The Bench ขอร่วมบันทึกความทรงจำของเรื่องราวลูกหนังสุดแสนประทับใจ เพื่อรักษาเอาไว้ ไม่ให้เลือนหายไปจากความทรงจำ


จุดเริ่มต้นของนักฟุตบอลจากบ้านโป่ง

นิรุจน์ สุระเสียง มีชื่อเล่นว่า "ตั้ม" เกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

เด็กชายนิรุจน์ สุระเสียง

ณ โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย จ.ราชบุรี ที่แห่งนี้ได้เคยปั้นนักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่วงการมาแล้วมากมาย และหนึ่งในผลผลิตเหล่านั้น คือนักเตะระดับตำนาน กองหน้าเบอร์ 1 ของเมืองไทย อย่าง เดอะตุ๊ก "ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน" ที่จบการศึกษาจากที่นี่

เด็กชายตั้มก็เป็นอีกหนึ่งคน ที่เริ่มต้นเอาดีทางด้านฟุตบอลตั้งแต่ระดับเยาวชนกับโรงเรียนแห่งนี้ และก็มี เดอะตุ๊ก เป็นหนึ่งในไอดอล เพื่อก้าวตามฝันในเส้นทางฟุตบอล ไม่ต่างกับเด็กผู้ชายทั่วไปอีกหลายๆคน


ก้าวแรกในเมืองกรุงฯ

ในขณะที่ฝีเท้ากำลังเริ่มเข้าสู่ขาขึ้น ก็ถึงเวลาเข้ามาฉายแววในเมืองกรุงฯ นิรุจน์ ผ่านการคัดตัวเข้าศึกษาต่อในสถาบันชั้นนำของวงการลูกหนังขาสั้นอย่าง"สำเภาฟ้าม่วง" พณิชยการราชดำเนิน ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ อ.พยงค์ ขุนเณร

นิรุจน์เดินหน้าสร้างความสำเร็จให้กับโรงเรียนมากมาย ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีกหลายคนที่ต่อมาล้วนกลายเป็นนักเตะที่มีชื่อเสียงอาทิเช่น วิมล จันทร์คำ, พีรทรรศน์ โพธิ์เรือนดี, รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชติ, และวุฒิญา หยองเอ่น

หลังจากนั้นไม่นานนิรุจน์ ได้รับโอกาสเซ็นสัญญาเป็นนักเตะเยาวชนกับ "สโมสรธนาคารกรุงไทย" โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 2,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับเด็กวัยนั้น

"สบายเลยครับ ไม่ต้องขอเงินแม่แล้ว"

นิรุจน์ เล่าอย่างอารมณ์ดี 😃

เส้นทางลูกหนังของ นิรุจน์ ที่ขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ปวช. ยังคงก้าวหน้าต่อไปเมื่อ
"สโมสรตลาดหลักทรัพย์" อีกหนึ่งทีมชั้นนำของเมืองไทยใน พ.ศ.นั้น ภายใต้การคุมทัพของโค้ชขงเบ้ง "อ.อาจหาญ ทรงงามทรัพย์" ตัดสินใจดึงตัวนิรุจน์ไปร่วมทีม


เริ่มเส้นทางของมืออาชีพ

การเริ่มต้นของเขารวดเร็วกว่าที่ใครคาดคิด และดูเหมือนเป็นโชคชะตาฟ้าลิขิต..

ทันทีที่ไปถึง นิรุจน์ ได้รับโอกาสให้ลงสนามเป็นตัวจริงทันที ในเกมนัดบิ๊กแมตช์ที่ต้องพบกับสโมสรทหารอากาศ ที่นำทีมโดย "พี่ตุ๊ก" ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ซึ่งจะลงเล่นให้ทีมเป็นฤดูกาลสุดท้ายก่อนอำลาสนาม

ทำให้นิรุจน์เอง มีโอกาสได้ลงสนามเผชิญหน้ากับนักเตะขวัญใจของตัวเองในวัยเด็ก
นิรุจน์กับทีมกรุงเทพมหานคร (เปลี่ยนชื่อทีมจากตลาดหลักทรัพย์)

นิรุจน์ลงเล่นให้กับสโมสรตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่นาน เศรษฐกิจไทยประสบภาวะฟองสบู่แตก เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

สโมสรตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถไปต่อได้ มีการยุบทีมและส่งต่อทีมมาเป็นสโมสรกรุงเทพมหานคร ที่ยุคนั้นบริหารทีมโดย บิ๊กแป๊ะ "ถิรชัย วุฒิธรรม" โดยในช่วงเวลานี้เอง นิรุจน์ เริ่มมีชื่อถูกเรียกติดทีมชาติไทยบ้างแล้ว เช่นชุดเยาวชนอายุไม่เกิน 19 ปี ที่ขณะนั้นคุมทีมโดย โค้ชหรั่ง "อ.ชาญวิทย์ ผลชีวิน"


สโมสรตำนานของไทย กับก้าวที่ยิ่งใหญ่ในเอเชีย

สโมสร บีอีซี เทโร ที่เต็มไปด้วยดาวดังหลายคน ทั้งดุสิต เฉลิมแสน, เทิดศักดิ์ ใจมั่น, วรวุฒิ ศรีมะฆะ ฯลฯ

หลังจากนั้นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็มาถึง เมื่อนิรุจน์ตัดสินใจย้ายไปร่วมทีม เจ้าบุญทุ่ม "สโมสรบีอีซี เทโร" ที่กำลังมาแรงในช่วงเวลานั้น โดยผนึกกำลังร่วมกับ นักเตะชื่อดังในยุคนั้นอย่าง ดุสิต เฉลิมแสน , วรวุธ ศรีมะฆะ และเทิดศักดิ์ ใจมั่น สร้างปรากฏการณ์สะเทือนเอเชีย ด้วยการฝ่าฟันเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ AFC Champions League

แม้สุดท้ายจะต้องพบกับความพ่ายแพ้ต่อทีมจากตะวันออกกลางอย่าง อัล ไอน์ (UAE) แต่ผลงานในครั้งนั้นก็ยังถือเป็นความสำเร็จชิ้นโบว์แดงของสโมสรจากประเทศไทย ในเวทีระดับเอเชีย ที่แม้ว่าจะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีตัวแทนจากเมืองไทยทีมไหนสามารถที่จะทำผลงานระดับนั้นได้อีก

(ในอดีตเคยมีทีมจากไทยคือทีมสโมสรธนาคารกสิกรไทย เคยคว้าแชมป์เอเชีย รายการ Asian Club Championship ในปี 1994, 1995 ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดการแข่งขัน และชื่อการแข่งขันมาเป็นรายการ AFC Champions League ในภายหลัง)


จากไทยสู่เวียดนาม – เมื่อโอกาสพาไปไกลกว่าที่ฝัน 🇻🇳

"เงินเดือน" ที่สูงกว่าเล่นในเมืองไทยหลายเท่า คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเรายอมออกนอกบ้าน ขณะที่ถ้าเล่นในไทยอาจจะได้แค่สองหมื่น แต่ที่เวียดนามกลับให้ได้ถึงหลักแสน

ถ้าเทียบกับค่าเงินในยุคปัจจุบันก็อาจจะตีเป็นมูลค่าได้ถึง 4-5 แสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว

หลังจากพีคสุดๆ กับเทโรในไทยลีก นิรุจน์ สุระเสียง ในวัย 20 ต้น ๆ เริ่มมองหาความท้าทายใหม่ๆ และนั่นทำให้เขาตัดสินใจย้ายออกไปค้าแข้งนอกประเทศเป็นครั้งแรก โดยมุ่งหน้าสู่เวียดนาม ประเทศที่กระแสฟุตบอลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลานั้น

"ตอนนั้นไม่มีเอเยนต์ ไม่มีผู้จัดการ นักเตะคุยกับสโมสรเองเลย สโมสรจากเวียดนามเขามาดูเรา แล้วก็คุยตรงกับเราตอนนั้นเลย เขาเห็นเราเล่นได้หลายตำแหน่ง จึงสนใจ ตอนนั้นผมเล่นได้ทั้งสวีปเปอร์ แบ็คขวา รวมไปถึงกองกลางตัวรับ"

นิรุจน์ย้อนความหลัง..

นิรุจน์ กับทีมบินห์ ดินห์

ดาวเตะทีมชาติไทยเริ่มต้นชีวิตการค้าแข้งบนแผ่นดินเหงียนกับสโมสร บินห์ ดินห์ โดยมี อิศวะ สิงห์ทอง เดินทางมาค้าแข้งอยู่ที่นี่ล่วงหน้าแล้ว หลังจากนั้นในครึ่งฤดูกาลหลัง พิพัฒน์ ต้นกันยา ก็ย้ายตามมาสมทบอีก

กลายเป็นสามประสานชาวไทย หน้า กลาง หลัง ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการปรับตัวของนิรุจน์

ถ้านับเฉพาะสโมสรแห่งนี้เพียงแห่งเดียวก็ไม่น่าเชื่อว่า นิรุจน์จะลงเล่นที่นี่เป็นเวลานานถึง 6 ฤดูกาลเต็มๆ ก่อนจะย้ายไปค้าแข้งกับสโมสรฮอง อันห์ ยาลาย ร่วมทีมกับ ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง

ก่อนจะปิดฉากสโมสรสุดท้ายในเวียดนามกับ นาวีแบงค์ ไซ่ง่อน รวมระยะเวลาค้าแข้งในเวียดนามทั้งหมด เป็นเวลาถึงเกือบ 10 ปีเลยทีเดียว โดยจะกลับเมืองไทยก็เฉพาะช่วงเวลาที่ต้องเดินทางมาเตะเกมทีมชาติเท่านั้น

"การเข้าไปของนักเตะไทยในตอนนั้น เป็นการช่วยยกระดับให้ฟุตบอลเวียดนามในช่วงนั้นจริงๆ"
"พวกเขาพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น เขาได้เรียนรู้หลายอย่างจากเรา ทั้งความเป็นมืออาชีพ ทักษะและวิธีการเล่น รวมทั้งทัศนคติ เรียกได้ว่าแฟนบอลเวียดนามในยุคนั้นให้การยอมรับนักเตะไทยมาก"

กว่าทศวรรษในเวียดนาม

"ที่นั่นแฟนบอลให้เกียรติเรามาก ให้ความสำคัญกับนักเตะไทย เดินทางไปไหนก็จะมีแฟนบอลมาห้อมล้อมเป็นเรื่องปกติ บางร้านให้กินฟรีเลยนะ บอกไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ขอให้ไปแข่งแล้วชนะให้ได้ก็พอ"
นิรุจน์ กับทีมฮอง อันห์ ยาลาย

เมื่อก่อนประเทศเวียดนามยังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ หลายเมืองเหมือนเวลาหยุดนิ่ง บรรยากาศเงียบเหงา ไม่มีห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ดังนั้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์คนที่นั่นก็จะจูงลูกจูงหลานไปดูฟุตบอลกันทั้งครอบครัว ดูๆไปก็คล้ายๆ ฟุตบอลอังกฤษเหมือนกัน

"พวกเขารักนักฟุตบอลไทยมาก เคยได้ยินมาว่าสาวเวียดนามชอบผู้ชายไทยด้วยนะ เขาบอกว่าหนุ่มไทยเอาใจเก่ง ต่างจากผู้ชายเวียดนามที่บุคลิกอาจจะดูแข็งๆไปบ้าง"
"ยังไม่เข้าใจจนถึงตอนนี้ว่าเราสองประเทศไปทะเลาะกันตอนไหน ทำไมกองเชียร์ถึงรบกันเป็นสงครามคีย์บอร์ดแบบทุกวันนี้"

การดูฟุตบอลที่นั่นกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้วอาจจะเข้าเส้นเลือดมากกว่าบ้านเราด้วยซ้ำ แฟนบอลแต่ละนัดแตะหลัก 1-2 หมื่นคนเป็นเรื่องปกติ จำนวนแฟนบอลระดับนั้นขนาดสมัยนี้ยังทำได้ยากเลย

นิรุจน์ กับทีมนาวีแบงก์ ไซ่ง่อน

ชีวิตความเป็นอยู่ที่นั่น ก็เรียกว่าอยู่ง่ายกินง่ายตามแบบของคนท้องถิ่นเลย ด้วยความเป็นประเทศที่ผ่านสงครามมา อาหารการกินก็จะกินกันแบบง่ายๆ คนเวียดนามชอบกินผักกันมาก ประชากรที่นี่จึงไม่ค่อยมีคนอ้วน เนื้อสัตว์จะกินกันน้อย อาจจะมีพวกอาหารทะเลที่เยอะหน่อย เพราะเป็นประเทศที่ติดทะเล อาหารทะเลมีราคาถูกและสดมากๆ

"ถ้าจะทานเนื้อสัตว์กันจริงๆ ที่นิยมกันเลยก็คือสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่พวกเรามักได้ยินกันนั่นแหละ เรียกได้ว่ามีราคาแพงกว่าเนื้อหมูหลายเท่า เพราะเขามองว่าเป็นยาชูกำลัง"

ส่วนเรื่องที่พักนักเตะก็จะอยู่รวมตัวกันในหอพัก เป็นเหมือนแคมป์เก็บตัวของสโมสร อยู่ด้วยกันห้องละ 2 คน พอถึง 3 ทุ่มจะต้องเข้านอน แล้วตื่น 6-7 โมงเช้า กินกาแฟอาหารเช้า พอ 11.30 ก็กินอาหารเที่ยง

หลังจากนั้น เขาบังคับให้นอนเลย เพื่อที่จะต้องตื่นมาซ้อมตอนบ่าย 3 แล้วก็ซ้อมจนถึงตอนเย็น ทุกคนทานอาหารเย็นด้วยกัน แล้วค่อยแยกย้ายกันกลับห้อง พอสามทุ่มก็ต้องเข้านอน มีการเดินตรวจเหมือนค่ายทหาร กิจวัตรประจำวันก็จะทำอยู่ประมาณนี้


ดราม่าที่ไทยหลังจากการได้สัญชาติเวียดนาม

"ถ้าสมัยนั้นเป็นยุคโซเชียลแบบปัจจุบัน ก็เรียกว่าอาจจะโดนทัวร์ลง หรือบ้านไฟไหม้กันเลยทีเดียว"

เมื่ออาศัยอยู่ในเวียดนามเกิน 5 ปีตามกฎหมาย และมีการสอบผ่านทางด้านภาษา ก็จะสามารถขอสัญชาติได้ ซึ่งทางสโมสรเป็นคนดำเนินการให้ทั้งหมด รวมถึงการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล

โดยนิรุจน์ มีชื่อในภาษาเวียดนามว่า "ด่อน วัน นิรุจน์ (Đoàn Văn Nirut)" โดยยังมีนักเตะไทยอีกคนที่ได้รับสัญชาติเวียดนามเช่นกัน คือ ศักดิ์ดา เจิมดี หรือ "ด่อน วัน ศักดา" โดยคำว่าด่อน มาจากของท่านประธานสโมสรในตอนนั้น

ศักดา เจิมดี และนิรุจน์ สุระเสียง

จากข้อเท็จจริงในยุคนั้นคือ มีนักเตะไทยเดินทางไปค้าแข้งที่เวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่การที่ใครสักคน จะได้รับสัญชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะนักเตะคนนั้นนั้น จะต้องอาศัยอยู่ในเวียดนามเป็นระยะเวลานานพอสมควร

ต้องมีการผ่านการทดสอบต่างๆ เช่น ด้านภาษา และอายุในเวลาที่จะขอสัญชาติ ก็ควรอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่นถ้านักเตะคนนั้นอายุเกิน 30 ปีแล้ว อายุการใช้งานเหลืออีกไม่มาก สโมสรก็คงไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องดำเนินการขอสัญชาติให้

แม้จะได้สัญชาติเวียดนาม แต่นิรุจน์ก็ยังถือสัญชาติไทยอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนสัญชาติแต่อย่างใด และตามกฎของ FIFA ก็ไม่สามารถไปเล่นให้ทีมชาติเวียดนามได้อยู่แล้ว

"แต่ช่วงหนึ่งกลับมีกระแสข่าวลือว่าเขาจะไปเล่นให้ทีมชาติเวียดนาม จนทำให้ถูกแฟนบอลบางกลุ่มเข้าใจผิดและต่อว่า แต่ด้วยความทุ่มเทและผลงานในสนามยามรับใช้ทีมชาติไทยทุกนัดที่ผ่านๆมา เขาไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรมาก หลังจากนั้นข่าวนี้ก็ค่อยๆเงียบหายไป"

การโอนสัญชาติ ทำไปเพียงเพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงานและใช้ชีวิตที่นั่นเท่านั้น ตอนนี้นิรุจน์ก็ยังคงมีพาสปอร์ตเวียดนาม และบัตรประชาชนเวียดนามอยู่ครบ เวลาจะเดินทางไปทำงานหรือทำธุรกิจที่นั่นก็ทำได้สะดวก เพราะถือว่านิรุจน์ก็เป็นพลเมืองของประเทศเขาเหมือนกัน


หนึ่งในนักเตะไทยที่แฟนบอลเวียดนามรักที่สุด 🇻🇳

ชีวิตของนิรุจน์ในช่วงที่อยู่เวียดนาม คนเวียดนามในตอนนั้นยังไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้เลย ผิดกับในตอนนี้ที่สื่อสารภาษาอังกฤษกันได้มากขึ้น ทำให้เมื่อไปอยู่ที่นั่นนิรุจน์จึงจำเป็นต้องพูดภาษาของเขาให้ได้ เพราะมันจำเป็นต้องใช้ แรกๆ ก็เริ่มจากหัดนับเลขก่อน จะได้เอาไว้ใช้เวลาไปซื้อของ

ช่วงกลางวันเวลาว่างก็ไม่ค่อยจะมีอะไรทำ ห้างก็ไม่มี อินเตอร์เน็ตก็ไม่ได้ดีเหมือนทุกวันนี้ นิรุจน์เลยเอาเวลาไปเรียนภาษาเวียดนาม

จนกระทั่ง อ่านออก เขียนได้ และพูดเวียดนามได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา

นี่คือมุมมองส่วนหนึ่งจากสื่อของเวียดนามที่ได้เคยเขียนถึง นิรุจน์ เอาไว้(*)

ทันทีที่ย้ายมาเวียดนาม ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อที่จะสามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมใหม่ของเขา

นิรุจน์ตัดสินใจเรียนรู้ภาษาเวียดนามอย่างจริงจัง โดยโค้ช Dương Ngọc Hùng และผู้ช่วย Nguyễn Văn Cường ไม่ได้แค่สอนฟุตบอลให้เขา แต่ยังช่วยสอนภาษาเวียดนามให้กับเขาควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้นิรุจน์ยังซื้อหนังสือเรียนภาษาเวียดนามและดูรายการโทรทัศน์ที่มีคำบรรยายภาษาเวียดนาม พยายามพูดคุยกับชาวเวียดนามทุกที่ที่ไป ถามหาวิธีการออกเสียงและจำคำศัพท์ใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา

ทำให้ภายในสามปี เขาสามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนเจ้าของภาษา นิรุจน์ฟังและพูดได้ทั้งสามสำเนียงของคนเวียดนาม (เหนือ กลาง ใต้)

ที่สำคัญ นิรุจน์สามารถขับขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าการจราจรในเวียดนามได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่แพ้คนท้องถิ่นเลยทีเดียว..

พูดถึงเรื่องการเรียนภาษาเวียดนาม ขนาดอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติเวียดนามอย่าง เฮนริเก้ คาลิสโต้ (Henrique Calisto) ยังเคยกล่าวติดตลกว่า

"เวียดนามเป็นประเทศที่ยอดเยี่ยมในทุกๆ อย่าง แต่มีอยู่ 2 เรื่องที่ผมยอมแพ้ คือ การขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนน และการเรียนภาษาเวียดนาม เพราะเคยมีครั้งหนึ่งที่เขาออกเสียงผิดกับผู้หญิงคนหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ จนเกือบถูกกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้าย ทำให้หลังจากนั้นเขาก็เลิกพยายามที่จะเรียนภาษาเวียดนามไปเลย

ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาลเทศะ นิสัยเรียบง่ายและเป็นคนอารมณ์ดีของเขา ทำให้นิรุจน์ไม่เคยทำให้ใครไม่พอใจเลย ไม่ว่าจะในสนามหรือในชีวิตประจำวัน สมมุติเล่นๆ หากมีการให้โหวตนักเตะไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเวียดนามแล้วล่ะก็ แน่นอนว่าชื่อของ ด่อน วัน นิรุจน์ จะต้องเป็นหนึ่งในตัวเต็งลำดับต้น ๆ อย่างไม่มีข้อสงสัย

แม้กระทั่งตอนที่เขากลับไปรับใช้ทีมชาติไทยในเกมที่ต้องบุกมาเยือนเวียดนาม เขาก็ยังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนเวียดนามอยู่เสมอ

ถึงเขาจะไม่ได้คว้าถ้วยรางวัลใหญ่มากมายในช่วงเวลานั้น แต่ชื่อของนิรุจน์ยังคงอยู่ในใจแฟนบอลเวียดนามจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะจำนวนประตูที่เขายิงได้ แต่เพราะ "หัวใจ" ที่เขาทิ้งไว้ในทุกสนามที่เขาเคยวิ่ง


ทีมชาติต้องมาก่อน

ด้วยความที่เวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยม คนในชาติมีความรักชาติ และความสามัคคีกันมาก พวกเขายึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง นโยบายทุกอย่างจะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อย่างวงการฟุตบอลถ้าทีมชาติมีโปรแกรมแข่งขัน แล้วสมาคมมีคำสั่งให้หยุดพักลีก ทุกทีมก็ต้องหยุด ไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่มีดราม่า

ถ้าจำเป็นต้องยืดการแข่งขันออกไป สโมสรจะต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น พวกเขาไม่กังวลตรงนั้น และปัจจุบันภาพรวมก็ยังคงเป็นแบบนั้น คือเอาเป้าหมายของประเทศมาก่อน


อ่านต่อเรื่องราวของนิรุจน์ กับทีมชาติไทย ตอนที่ 2 ต่อได้ที่ คลิกที่นี่